ยา คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญใช้ในการรักษาโรคและช่วยให้อาการบาดเจ็บทุเลาลงจนหายเป็นปกติ ซึ่งยาและเวชภัณฑ์ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญของสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เพราะหากลูกจ้างเกิดการบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน จะได้รับการปฐมพยาบาลทันที นอกจากนี้กฎหมายแรงงานยังได้กำหนดให้สถานประกอบการจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง ในเรื่องของห้องพยาบาลประจำโรงงานซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องของยาและเวชภัณฑ์ด้วย
จากข้อกำหนดของกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2548 ที่ได้กำหนดให้ที่สถานทำงาน ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาล อย่างน้อยตามรายการดังต่อไปนี้
1. สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลในจำนวนที่เพียงพอ อย่างน้อยตามรายการดังต่อไปนี้
- กรรไกร แก้วยาน้ำ และแก้วยาเม็ด เข็มกลัด ถ้วยน้ำ ที่ป้ายยา ปรอทวัดไข้ ปากคีบปลายทู่
- ผ้าพันยืด ผ้าสามเหลี่ยม สายยางรัดห้ามเลือด สำลี ผ้าก๊อซ ผ้าพันแผล และผ้ายางปลาสเตอร์ปิดแผล หลอดหยดยา
- ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือโพวิโดน-ไอโอดีน น้ำยาโพวิโดน-ไอโอดีน ชนิดฟอกแผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ ยาแก้ผดผื่นที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ ยาแก้แพ้ ยาทาแก้ผดผื่นคัน ยาธาตุน้ำแดง ยาบรรเทาปวดลดไข้ ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เหล้าแอมโมเนียหอม แอลกอฮอล์เช็ดแผล
- ขี้ผึ้งป้ายตา ถ้วยล้างตา น้ำกรดบอริคล้างตา ยาหยอดตา
2. สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่สองร้อยคนขึ้นไป ต้องจัดให้มี
2.1 เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลตาม ( 1 )
2.2 ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อยหนึ่งเตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาล เบื้องต้น
2.3 พยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปไว้ประจำอย่างน้อยหนึ่งคนตลอดเวลาทำงาน
2.4 แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสองครั้งและเมื่อรวมเวลาแล้วต้อง ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหกชั่วโมงในเวลาทำงาน
3. สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่หนึ่งพันคนขึ้นไป ต้องจัดให้มี
3.1 เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลตาม ( 1 )
3.2 ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อยหนึ่งเตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาล เบื้องต้น
3.3 พยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปไว้ประจำอย่างน้อยสองคนตลอดเวลาทำงาน
3.4 แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสองครั้งและเมื่อรวมเวลาแล้วต้อง ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหกชั่วโมงในเวลาทำงาน
3.5 ยานพาหนะซึ่งพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลเพื่อให้การรักษาพยาบาลได้ โดยพลัน
ทั้งนี้การจัดเก็บยาและเวชภัณฑ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยมีชั้นวางยา ตู้เก็บยา จัดเก็บอย่างเหมาะสม ไม่ให้โดนแสงแดด หรือเก็บในที่ที่มีความชื้นสูง นอกจากเวชภัณฑ์และยาที่กฎหมายได้กำหนดแล้ว นายจ้างสามารถจัดหายาชนิดอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมอาการเจ็บป่วยทุกรูปแบบ
แหล่งข้อมูล : https://www.labour.go.th/